Cilostazol (ซิลอสทาซอล)
Cilostazol (ซิลอสทาซอล) เป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่มีฤทธิ์หยุดการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย ขยายหลอดเลือดที่ขา และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น นำมาใช้ลดอาการปวดและตะคริวที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินหรือการออกกำลังกาย บรรเทาอาการเหน็บชาและปวดขา หรือใช้รักษาอาการปวดขาเป็นระยะเนื่องจากขาดเลือด และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทยไม่ได้บรรจุยา Cilostazol ไว้ในบัญชียา เพราะยานี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ และไม่มีการวิจัยเพียงพอที่จะรับรองได้ว่ายานี้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยคุ้มค่ากับราคา ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา Cilostazol
กลุ่มยา ยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ รักษาอาการปวดขาเป็นระยะเนื่องจากขาดเลือด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด
คำเตือนในการใช้ยา Cilostazol
แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกในสมอง เลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะภาวะหัวใจวาย เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ก่อนใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด เพราะมียา วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เพราะการใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
หากต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษา พยาบาล และเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยานี้
ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยา Cilostazol เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จึงจะได้ผลการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ระหว่างที่ใช้ยา Cilostazol ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
ระหว่างที่ใช้ยา Cilostazol ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกง่ายกว่าปกติ จึงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลและมีเลือดออก
ผู้ป่วยที่รับประทานเกรปฟรุตหรือดื่มน้ำเกรปฟรุตเป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยา Cilostazol
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
อาการปวดขาเป็นระยะเนื่องจากขาดเลือด
ผู้ใหญ่ รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้หยุดใช้ยา หากใช้ยาติดต่อกัน 3 เดือน แล้วอาการไม่ดีขึ้น
การใช้ยา Cilostazol
ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
ควรรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง และระวังไม่ให้ลืมรับประทานยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษา
ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องและครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นเมื่อใช้ยาเป็นระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่จะเห็นผลลัพธ์จากการใช้ยาอย่างเต็มที่เมื่อใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 12 สัปดาห์
หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรอบถัดไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ห่างจากความชื้น และพ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cilostazol
การใช้ยา Cilostazol อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ปวดศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ท้องเสีย อุจจาระผิดปกติ ระคายเคืองจมูกหรือคอ เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Cilostazol ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที
อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดังหวีด มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
อาการของการมีเลือดออกภายในร่างกาย เช่น อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำหรือสีแดง เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เกิดรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกมาก หรือมีเลือดไหลไม่หยุด
จำนวนของเม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อ โดยอาจมีอาการของการติดเชื้อที่สังเกตได้ เช่น มีไข้ หนาวสั่น หรือเจ็บคอ แต่เป็นผลข้างเคียงที่พบได้น้อย
แขนหรือขาบวม
เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดปกติ
เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ
นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน





ทางไปติดตามโปรโมชั่นโดนๆฮิตๆ คลิก> https://www.instagram.com/promotionhothit
ทางไปชมบล็อกสาระน่ารู้ของเรา คลิก> www.HAmorya.com
"หมอยานเรศวร EVENT เล่าทุกเรื่องของเรา"
TIMELINE 2010-2018
https://www.facebook.com/MoryaNaresuanOFFICIAL
https://twitter.com/moryanaresuan
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น