อินซูลิน
อินซูลิน
อินซูลิน (Insulin) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในให้เหมาะสม ทั้งนี้อินซูลินที่ใช้ในทางการแพทย์นั้นสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ทั้งในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ หรือเมื่อการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยอินซูลินแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Ultra Rapid-Acting) เป็นชนิดที่ใช้เวลาการเริ่มออกฤทธิ์ประมาณ 12-30 นาที และออกฤทธิ์สูงสุดในช่วงเวลา 30 นาที-3 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ยาวนานต่อเนื่อง 3-5 ชั่วโมง
ชนิดออกฤทธิ์ปกติ (Regular หรือ Short-Acting) คืออินซูลินที่จะเริ่มออกฤทธิ์หลังฉีดเข้าร่างกายประมาณ 30 นาที ตัวยาออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 2.5-5 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่อง 4-8 ชั่วโมง
ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate Acting) คืออินซูลินที่จะเข้าสู่กระแสเลือด 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์สูงสุดระหว่างเวลา 4-12 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่อง 14-24 ชั่วโมง
ชนิดออกฤทธิ์นาน (Long Acting) อินซูลินชนิดนี้จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 6-14 ชั่วโมงหลังฉีด และค่อย ๆ ออกฤทธิ์ใน 10-16 ชั่วโมง โดยไม่มีช่วงเวลาออกฤทธิ์สูงสุด อินซูลีนชนิดนี้จะอยู่ในกระแสเลือดได้ถึง 20-24 ชั่วโมง
ในการใช้อินซูลินแพทย์จะเป็นผู้สั่งและ เป็นผู้กำหนดปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น เนื่องจากการใช้ในปริมาณที่น้อยเกินไปจะทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือหากใช้มากไปอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้

เกี่ยวกับอินซูลิน
กลุ่มยา ยาฮอร์โมนอินซูลิน
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด
คำเตือนการใช้อินซูลิน
ผู้ที่ประวัติแพ้อินซูลิน ควรหลีกเลี่ยงการใช้อินซูลินทุกชนิด
ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ห้ามใช้อินซูลิน
ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตับหรือไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว
ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากผู้ป่วยมีการใช้ยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจได้
สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรแจ้งต่อแพทย์ก่อนใช้ยานี้เพื่อความปลอดภัย
ปริมาณการใช้อินซูลิน
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis) เบื้องต้นให้ 20 ยูนิต และให้ 6 ยูนิตต่อชั่วโมงจนกว่าระดับน้ำตาลลดลงถึง 10 มิลลิโมลต่อลิตรหรือ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แล้วจึงเปลี่ยนมาให้ยาทุก 2 ชั่วโมง
ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
รักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis)
ผู้ใหญ่ สำหรับสารละลายอินซูลินความเข้มข้น 1 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ผ่านทางเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด เริ่มต้นที่ 6 ยูนิตต่อชั่วโมง และสามารถให้เพิ่มเป็นเท่าตัว หรือ 4 เท่าได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ลดลงอย่างน้อย 5 มิลลิโมลต่อลิตรหรือ 90 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรต่อชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงถึง 10 มิลลิโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง หรือ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถลดปริมาณอินซูลินลงเหลือ 3 ยูนิตต่อชั่วโมงได้ และควรให้สารละลายกลูโคสความเข้มข้น 5%ไปพร้อมกันด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และไม่ควรหยุดใช้อินซูลินทางหลอดเลือดดำจนกว่าจะกลับมาให้ทางการฉีดใต้ผิวหนัง และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าให้สารน้ำแก่ผู้ป่วยในปริมาณที่เพียงพอ อีกทั้งให้โพแทสเซียมแก่ผู้ป่วยเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะโพสแทสเซียมต่ำเนื่องจากได้รับอินซูลิน
เด็ก สำหรับสารละลายอินซูลิน ให้ในปริมาณ 1 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ผ่านเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด เริ่มต้นที่ 0.1 ยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และสามารถให้เพิ่มเป็นเท่าตัว หรือ 4 เท่าได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ลดลงอย่างน้อย 5 มิลลิโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง หรือ 90 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างน้อย 10 มิลลิโมลต่อลิตรต่อชั่วโมง หรือ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถลดปริมาณอินซูลินลงเหลือ 0.05 ยูนิตต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อชั่วโมงได้ และควรให้สารละลายกลูโคสความเข้มข้น 5%ไปพร้อมกันด้วย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และไม่ควรหยุดใช้อินซูลินทางหลอดเลือดดำจนกว่าจะกลับมาให้ทางการฉีดใต้ผิวหนัง และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าให้สารน้ำแก่ผู้ป่วยในปริมาณที่เพียงพอ อีกทั้งให้โพแทสเซียมที่เพียงพอแก่ผู้ป่วยเพื่อป้องกันภาวะโพสแทสเซียมต่ำเนื่องจากได้รับอินซูลิน
ยาฉีดใต้ผิวหนัง
รักษาโรคเบาหวาน
ผู้ใหญ่ ใช้ในปริมาณตามที่แพทย์สั่ง โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่บริเวณต้นขา ต้นแขน สะโพก และหน้าท้อง
การใช้อินซูลิน
อินซูลินเป็นยาที่ใช้ได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะพิจารณาถึงอาการของโรคเบาหวานที่เป็น ซึ่งปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ด้วย หากใช้อินซูลินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาได้
การใช้อินซูลิน ผู้ป่วยต้องใช้ตามปริมาณที่กำหนด และไม่ใช้มากหรือน้อยกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง อีกทั้งไม่เจือจางยา หรือเปลี่ยนชนิดและยี่ห้อของยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และไม่หยุดยาเองเพราะอาจกระทบกับการรักษา ผู้ป่วยควรแจ้งต่อแพทย์หากมีการใช้ยาบางชนิดในการรักษาอาการเจ็บป่วย ได้แก่
ยาซาลบูทามอล (Salbutamol) ที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืด
ยาโคลนิดีน (Clonidine) และยารีเซอร์พีน (Reserpine) ที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงใช้ในการเลิกยาเสพติด หรือรักษาโรคทางจิตเวช
ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ (Beta-Blocker) ใช้การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และลดความดันโลหิต
หากมีการใช้ยาเหล่านี้แพทย์มักจะพิจารณาเรื่องการใช้อินซูลินอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ฤทธิ์ของยาและอินซูลินส่งผลเสียต่อร่างกาย
นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก และหมั่นติดตามอาการด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไปซึ่งส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นอาการที่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยเบาหวาน โดยสังเกตได้คือ ปวดศีรษะ รู้สึกเหมือนหิวมากผิดปกติ เหงื่อออก ผิวซีด หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย วิงเวียนศีรษะ มือสั่น ใจสั่น ผู้ป่วยควรพกของหวาน เช่น ลูกอม น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานติดตัวไว้ และควรสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ
หากมีอาการกระหายน้ำผิดปกติ ปัสสาวะมากขึ้น หิวบ่อย ปากแห้ง ผิวแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ มีอาการง่วงซึม สายตามัวหรือน้ำหนักลดผิดปกติ อาจหมายถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพกเอกสารที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน และรับการรักษาแบบใดอยู่ติดตัวไว้เสมอ เผื่อในกรณีฉุกเฉิน แพทย์ที่ต้องรักษาผู้ป่วยจะได้รักษาอย่างถูกวิธี
สำหรับสตรีมีครรภ์สามารถใช้อินซูลินได้แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ใหน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปจนส่งผลต่อทารกในครรภ์ ส่วนสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ใช้อินซูลินได้เช่นกัน แต่มักใช้อินซูลินน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ อินซูลินที่ใช้จะไม่ตกค้างในน้ำนม และไม่ส่งผลกระทบต่อทารกที่ดื่มของแม่ที่ใช้อินซูลิน
ขณะที่การฉีดยาอินซูลินเข้าใต้ผิวหนังด้วยตนเอง ไม่ควรฉีดยาซ้ำที่บริเวณเดิมเกิน 2 ครั้ง และไม่ควรใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ดังนั้นเมื่อใช้เสร็จแล้วควรทิ้งเข็มฉีดยาลงในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันเข็มทะลุออกมาได้ และควรเก็บให้ห่างไกลจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ในการเก็บรักษาอินซูลิน ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากและหมั่นสังเกตตัวยาอยู่เสมอ อินซูลินแต่ละยี่ห้อจะมีลักษณะของน้ำยาที่แตกต่างกัน คืออาจมีสีใส หรือสีขุ่นก็ได้ แต่ถ้าลักษณะของยาเปลี่ยนไปจากเดิม ควรหยุดใช้และแจ้งแพทย์ผู้รักษาเพื่อเปลี่ยนยาใหม่ ควรเก็บยาไว้ในที่เย็น เช่น ตู้เย็น หรือตู้แช่ ที่มีอุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในช่องแช่แข็ง และไม่ควรให้ยาถูกแสงแดด หรือโดนความร้อนโดยตรงเพราะอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ อินซูลินที่เปิดใช้แล้ว หรือที่ถูกบรรจุในปืนปากกา สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสได้ ยาที่เปิดใช้แล้วจะอายุไม่เกิน 28 วัน หากใช้ไม่หมดภายในเวลาดังกล่าวต้องทิ้งแล้วเปลี่ยนขวดใหม่
ผลข้างเคียงจากการใช้อินซูลิน
อินซูลินเป็นยาที่ทำให้เกิดการแพ้ได้น้อยมาก แต่อาจพบได้ โดยส่งผลให้เกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย หรือบวมแดงบริเวณที่ฉีดซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการตลอดเวลาที่ใช้อินซูลินในการรักษา โดยผลข้างเคียงที่มักพบ ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวขึ้น ทั้งนี้ หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่
รู้สึกวิตกกังวล มึนงง ซึมเศร้า
ตาพร่ามัว
มีอาการหนาวสั่น และมีเหงื่อออก ตัวเย็น
เกิดอาการชักกะตุก ชัก หรือตัวสั่น
ผิวหนังซีด หรือมีผื่นขึ้น
ปากแห้ง ไอ กลืนลำบาก
ปัสสาวะน้อยลง
หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดปกติ
ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
หิว หรือกระหายน้ำบ่อยขึ้น
ความอยากอาหารลดลง
มีอาการเหน็บชาที่มือ เท้า หรือริมฝีปาก
กล้ามเนื้อเกร็ง
แน่นหน้าอก
เกิดอาการเหนื่อย อ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ





ทางไปติดตามโปรโมชั่นโดนๆฮิตๆ คลิก> https://www.instagram.com/promotionhothit
ทางไปชมบล็อกสาระน่ารู้ของเรา คลิก> www.HAmorya.com
"หมอยานเรศวร EVENT เล่าทุกเรื่องของเรา"
TIMELINE 2010-2018
https://www.facebook.com/MoryaNaresuanOFFICIAL
https://twitter.com/moryanaresuan
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น